4.ลักษณะของการประเมินผลการปฏิบัติ

การประเมินผลด้านการปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. ประเมินจากผลงาน โดยการพิจารณาคุณภาพจากผลงาน (Product) ที่นักเรียนทำสำเร็จหลังจากสิ้นสุดกระบวนการปฏิบัติแล้ว มักใช้ในกรณี งานที่ให้ปฏิบัติมีผลงานปรากฏให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน และผู้ประเมินไม่ได้เน้นความสำคัญของกระบวนการหรือขั้นตอนการปฏิบัติ เช่น ถ้าให้นักเรียนวาดภาพ ชิ้นงานที่ปรากฏให้เห็นเมื่อสิ้นสุดกระบวนการวาดภาพ คือ รูปภาพที่นักเรียนวาดเสร็จ ให้นักเรียนคัดลายมือ ชิ้นงานที่ปรากฏให้เห็น เมื่อสิ้นสุดกระบวนการคัดลายมือ คือ ตัวอักษรที่นักเรียนคัดในสมุด
วิธีการประเมินจากผลงาน ครูจะต้องสังเกตจากชิ้นงานที่นักเรียนทำสำเร็จแล้ว โดยอาจใช้การจัดอันดับชิ้นงาน (Ranking) หรืออาจกำหนดรายการคุณลักษณะผลงานที่ต้องการสังเกตไว้แล้ว ใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือ ใช้มาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นเครื่องมือช่วยในการสังเกต ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประเมินโดยดูคุณภาพรวม ๆ แล้วให้คะแนนโดยไม่มีกฎเกณฑ์ เช่น คะแนนเต็ม 10 ดูภาพของนักเรียนคนที่ 1 แล้วเห็นว่าสวยมากให้ 8 คะแนน ภาพของคนที่ 2 สวยน้อยให้ 3 คะแนน ภาพของคนที่ 3 สวยพอดี พอดี ให้ 5 คะแนน การประเมินผลงานเช่นนี้ จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน (Error) ได้ง่าย นอกจากนั้นยังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า ภาพที่สวยมาก สวยพอดี หรือสวยน้อย แตกต่างกันอย่างไร
จุดด้อยของการประเมินจากผลงาน คือ ชิ้นงานอาจไม่ใช่ผลงานของนักเรียนเอง เช่น ครูมอบหมายงานให้นักเรียนกลับไปทำที่บ้าน นักเรียนอาจนำไปให้ผู้ปกครองช่วยทำ ชิ้นงานที่นักเรียนนำมาส่งจึงเป็นผลงานของผู้ปกครอง ดังนั้น หากครูต้องการประเมินการปฏิบัติจากผลงานจะต้องคำนึงถึงจุดด้อยดังกล่าวด้วย
2. ประเมินจากกระบวนการและผลงาน เป็นการประเมินผลการปฏิบัติที่ต้องพิจารณาทั้งจากกระบวนการและผลงาน (Product and Process) การประเมินกระบวนการต้องพิจารณาจากคุณภาพของขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องสังเกตในขณะที่นักเรียนกำลังลงมือปฏิบัติงานอยู่ ส่วนการประเมินผลงาน ต้องพิจารณาจากคุณภาพของชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับการประเมินผลงานที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ซึ่งต้องประเมินหลังจากที่นักเรียนปฏิบัติงานเสร็จแล้ว หรือสิ้นสุดกระบวนการปฏิบัติแล้ว การประเมินทั้งกระบวนการและผลงาน จะทำในกรณีที่ลักษณะของงานที่ปฏิบัติมีขั้นตอนชัดเจนที่สามารถกำหนดเป็นพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการปฏิบัติงานมีผลงานปรากฏออกมาเป็นชิ้นงานให้มองเห็นได้ เช่น ให้นักเรียนทำอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า ปลูกพืช หรือ งานก่อสร้าง เป็นต้น
วิธีการประเมินจากกระบวนการและผลงาน จำเป็นต้องใช้การสังเกต โดยสังเกตขั้นตอนการปฏิบัติงานตั้งแต่เริ่มลงมือปฏิบัติ จนกระทั่งสิ้นสุดขั้นตอนการปฏิบัติ และเมื่อนักเรียนปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องสังเกตผลงานที่หรือชิ้นงานที่ได้จากการปฏิบัติด้วย โดยครูต้องกำหนดรายการคุณลักษณะที่ต้องการสังเกตให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการและผลงาน รวมทั้งคุณลักษณะด้านจิตพิสัยไว้ล่วงหน้าก่อนทำการวัด แล้วใช้เครื่องมือประเภทแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือ มาตรประมาณค่า (Rating Scale) ประกอบการสังเกต
3. ประเมินจากกระบวนการ (Process) การปฏิบัติงานบางอย่างไม่สามารถแยกกระบวนการปฏิบัติกับผลงานออกจากกันได้ เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดกระบวนการปฏิบัติไม่มีผลงานปรากฏออกมาให้มองเห็นเป็นรูปร่างชิ้นงาน แต่ผลงานจะเกิดขึ้นในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ เช่น การขับร้อง การฟ้อนรำ การเล่นกีฬา การพูด การอ่าน เป็นต้น
วิธีการประเมินผลการปฏิบัติลักษณะนี้ จึงต้องสังเกตผลงานในขณะที่ผู้เรียนกำลังปฏิบัติ นั่นคือ สังเกตกระบวนการและผลงานไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการปฏิบัติ โดยผู้ประเมินต้องกำหนดรายการปฏิบัติให้ครอบคลุมกระบวนการปฏิบัติ รวมทั้งคุณลักษณะด้านจิตพิสัย แล้วใช้เครื่องมือประเภท แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือ มาตรประมาณค่า (Rating Scale) ประกอบการสังเกตเช่นเดียวกับการประเมินทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น แต่ต่างกันตรงที่สังเกตในขณะที่กำลังปฏิบัติเท่านั้น

3.รูปแบบการวัดการปฏิบัติ

รูปแบบการวัดการปฏิบัติ จำแนกตามระดับความเป็นจริงของสถานการณ์การปฏิบัติตั้งแต่ระดับความจริงต่ำสุด จนถึงระดับความเป็นจริงสูงสุด ได้ 4 ประเภท คือ
1. การวัดการปฏิบัติด้วยการให้เขียนตอบ (Paper and Pencil Performance Test) เป็นการวัดที่มุ่งให้ผู้สอบแสดงการปฏิบัติโดยการเขียนลงในกระดาษ ซึ่งเป็นคนละลักษณะกับการให้เขียนตอบในการวัดผลสัมฤทธิ์ด้านสติปัญญา เพราะสถานการณ์ของการวัดการปฏิบัติจะมุ่งให้ผู้สอบประยุกต์ความรู้ความสามารถและทักษะที่ได้รับการฝึกฝนมา แล้วแสดงพฤติกรรมออกมาโดยการเขียนลงในกระดาษ ซึ่งก็คือผลงาน (Product) หรือชิ้นงานที่ได้จากการปฏิบัตินั่นเอง เช่น ให้วาดภาพธรรมชาติตามจินตนาการ ให้สร้างแบบตัดกระโปรงทรงสอบ ให้เขียนแผนผังการจัดสนามสอบ ให้สร้างแผนภาพวงจรไฟฟ้า
ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้การสอบแบบเขียนตอบเพื่อวัดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติโดยเฉพาะงานภาคปฏิบัติที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนลงมือปฏิบัติว่าผู้ปฏิบัติรู้ขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นในขณะที่กำลังลงมือปฏิบัติ เช่น ให้เขียนขั้นตอนการกู้กับระเบิดก่อนลงมือปฏิบัติจริง ให้เขียนขั้นตอนการบังคับจรวดก่อนปฏิบัติจริง เป็นต้น แต่ผลการสอบด้วยแบบทดสอบเขียนตอบแบบนี้จะแสดงให้ทราบว่าผู้ตอบรู้ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้แสดงให้ทราบว่าผู้สอบมีความสามารถในการปฏิบัติหรือไม่มี
บางกรณีอาจใช้การสอบแบบเขียนตอบวัดภาคปฏิบัติในงานที่ให้ปฏิบัติเป็นกลุ่ม แต่ต้องการวัดเป็นรายบุคคล เพื่อตรวจสอบความร่วมมือในการทำงานของแต่ละบุคคล ว่าได้ร่วมงานปฏิบัติด้วยหรือไม่ เช่น ให้เขียนขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เขียนหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ให้เขียนชื่อสมาชิกในกลุ่ม ให้เขียนผลที่ได้จากการปฏิบัติ เป็นต้น ผลการสอบด้วยแบบทดสอบเขียนตอบแบบนี้ยังไม่ได้แสดงให้ทราบว่าเขามีความสามารถในการปฏิบัติหรือไม่มี เพียงแต่แสดงให้ทราบว่าเขามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานหรือไม่เท่านั้น
2. การวัดการปฏิบัติเชิงจำแนก (Identification Test) เป็นการวัดความสามารถในการจำแนกแยกแยะชิ้นส่วนของอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติ เช่น ให้ระบุชื่อของเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติ ให้ระบุชนิดของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติ ให้ระบุหน้าที่ของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ระบุตำแหน่งของชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ การวัดการปฏิบัติเชิงจำแนกอาจใช้วิธีการวัดที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อตรวจสอบทักษะในการปฏิบัติงาน เช่น ให้ฟังเสียงเครื่องยนต์ที่ผิดปกติแล้วให้ระบุว่าผิดปกติที่จุดใด พร้อมทั้งระบุวิธีการซ่อมด้วย หรือ นำตู้เย็นที่ไม่เย็นมาให้หาจุดที่ชำรุด พร้อมทั้งระบุเครื่องมือ และขั้นตอนการซ่อม เป็นต้น อย่างไรก็ตามการวัดการปฏิบัติเชิงจำแนกแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าบุคคลมีความสามารถในการปฏิบัติ เพราะไม่สามารถวัดกระบวนการและผลงานขั้นสุดท้ายของผู้ปฏิบัติได้ เนื่องจากไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่ผลการวัดภาคปฏิบัติเชิงจำแนกสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติจริงเพื่อยืนยันว่าบุคคลมีทักษะในการปฏิบัติเพียงใดได้ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ถ้าสามารถจำแนกเครื่องมือที่ใช้ในการซ่อมได้เหมาะสมกับอาการของรถ สามารถบอกอาการของเครื่องได้จากการฟังเสียงเครื่องยนต์ ก็แสดงว่ามีประสบการณ์และทักษะในการซ่อมสูง
3. การวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulated Situation Performance)
เป็นการวัดที่ให้ผู้สอบลงมือปฏิบัติในสถานการณ์ที่จำลองขึ้นมาให้คล้ายจริง ใช้วัดในกรณีที่ไม่สามารถให้ผู้สอบปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้ เนื่องจากอาจเกิดผลเสียหรืออันตรายร้ายแรงกับตนเองหรือผู้อื่นในกรณีที่ปฏิบัติผิดพลาด หรือกรณีที่อุปกรณ์ปฏิบัติมีราคาแพงมาก เช่น การสอบใบขับขี่ต้องสอบในสนามสอบจำลองเพราะถ้าให้สอบในสนามจริงอาจเกิดอุบัติเหตุจราจรได้ การทดสอบการฉีดยา การทดสอบปั๊มหัวใจของนักเรียนแพทย์ ต้องทดสอบกับหุ่นเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับคนไข้ การทดสอบขับยานอวกาศต้องทดสอบกับยานอวกาศจำลอง เพราะถ้าต้องทดสอบกับ ยานอวกาศจริงต้องใช้งบประมาณสูง การทดสอบตัดผมของช่างตัดผม บางครั้งให้ตัดจากวิกเพื่อป้องกันความผิดพลาดกรณีตัดผมผิด เป็นต้น นอกจากนั้นการวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองอาจจำเป็นในกรณีที่ไม่สามารถหาสถานการณ์จริงให้ปฏิบัติได้ เช่น การทดสอบผจญภัยในสงครามของทหาร การทดสอบการดับเพลิงของตำรวจ จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ที่คล้ายจริงเพื่อใช้ในการทดสอบภาคปฏิบัติ
ผลการวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองจะแม่นยำหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่กำหนดให้ว่าใกล้เคียงความเป็นจริงหรือไม่ ดังนั้นผู้วัดจะต้องพยายามสร้างสถานการณ์ให้เหมือนกับอยู่ในสถานการณ์จริงมากที่สุด
4. การวัดการปฏิบัติด้วยตัวอย่างงาน (Work Sample) เป็นการวัดในลักษณะที่กำหนดงานให้ผู้สอบปฏิบัติภายใต้สภาวการณ์ที่เป็นจริง เช่น กำหนดให้ตัดเสื้อจริง ๆ ในวิชาตัดเย็บ กำหนดให้ทำอาหารจริงในวิชาคหกรรม กำหนดให้ปลูกผักในแปลงจริง ๆ ในวิชาเกษตร หรือกำหนดให้สร้างชั้นวางของในวิชางานไม้ เป็นต้น ลักษณะของการวัดการปฏิบัติด้วยตัวอย่างงานมีความคล้ายคลึงกับการวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลอง ข้อสังเกตที่จะช่วยจำแนกความแตกต่างของการวัดทั้งสองแบบ คือ ถ้าให้ปฏิบัติในสภาวการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาถือว่าเป็นการวัดในสถานการณ์จำลองแต่ถ้าให้ปฏิบัติในสถานการณ์ปกติไม่ได้มีการจัดกระทำสถานการณ์ จะถือว่าเป็นการวัดการปฏิบัติจริงด้วยตัวอย่างงาน เช่น การให้สอบขับรถในสนามสอบ เป็นการวัดในสถานการณ์จำลอง แต่ถ้าให้ขับในถนนจริง ๆ เป็นการวัดด้วยตัวอย่างงาน หรือ ในงานไม้ให้สร้างโต๊ะไม้ ถ้าให้สร้างโต๊ะเล็ก ๆ จะเป็นแบบสถานการณ์จำลอง แต่ถ้ากำหนดให้สร้างโต๊ะใหญ่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่นนี้เป็นการวัดแบบตัวอย่างงาน
การวัดการปฏิบัติด้วยตัวอย่างงานเป็นการวัดที่นับว่า มีระดับความเป็นจริงสูงสุด (High Realism) เพราะเป็นการวัดการปฏิบัติที่ให้ผู้สอบลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเอง ในสภาพการณ์จริง อย่างไรก็ตามผลการวัดจะชี้ให้เห็นความสามารถที่แท้จริงของนักเรียนต่อเมื่อ งานที่กำหนดให้ปฏิบัติถูกเลือกมาอย่างดี เป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่ต้องการวัดอย่างแท้จริง

1.ความหมายของการประเมินผลการเรียนด้านการปฏิบัติ

การประเมินผลการเรียนด้านปฏิบัติ หมายถึง การประเมินผลพฤติกรรมของนักเรียนที่อยู่ในรูปของการกระทำที่แสดงออกมาให้ครูสามารถสังเกตได้ เช่น พูด อ่าน วาดรูป เย็บผ้า ว่ายน้ำ โดยจะต้องให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง แล้วสังเกตจากวิธีการ และผลงาน ที่ผู้ถูกวัดแสดงออกมา



การประเมินผลการปฏิบัติ เป็นการประเมินที่มุ่งให้ผู้เรียนปฏิบัติตามภาระงานที่ครูมอบหมาย โดยเน้นที่การลงมือปฏิบัติ มากกว่าการตรวจสอบด้านความรู้

2. ธรรมชาติของการวัดการปฏิบัติ

การวัดผลการปฏิบัติ เป็นการวัดที่มีลักษณะแตกต่างจากการวัดคุณลักษณะ ด้านความรู้ และด้านจิตใจ ผู้ที่จะทำการวัดต้องเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของการวัดการปฏิบัติต่อไปนี้ก่อนลงมือวัด เพื่อจะได้ดำเนินการวัดให้สอดคล้องกับธรรมชาติของการวัดการปฏิบัติ
1. การวัดผลการปฏิบัติสามารถวัดได้ทั้งรายบุคคลและกลุ่ม จึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนทำการวัดว่างานที่กำหนดให้ปฏิบัติควรให้ทำเป็นรายคนหรือรายกลุ่ม งานบางอย่างเป็นงานที่ต้องทำคนเดียว จึงจะประเมินทักษะการปฏิบัติได้ชัดเจน เช่น การคัดลายมือ การวาดภาพ การตัดเย็บการอ่านออกเสียง แต่งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว โดยเฉพาะชั้นเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมาก ผู้สอนไม่มีเวลาพอที่จะสังเกตการปฏิบัติเป็นรายคน อาจให้ทำเป็นกลุ่มแล้วสังเกตกระบวนการปฏิบัติควบคู่ไปกับความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม การทำอาหาร การบรรเลงวงดนตรี การทำแปลงเกษตร
2. วิธีการวัดผลการปฏิบัติจะแตกต่างกันออกไปตามงานที่มอบหมายให้ทำ งานบางอย่างต้องให้ผู้เรียนผลิตผลงานออกมาให้ดู เช่น งานประดิษฐ์ งานวาดภาพ หรืองานแกะสลัก งานบางอย่างต้องให้ผู้เรียนแสดงกิริยาอาการออกมา เช่น งานด้านนาฏศิลป์ ต้องวัดโดยให้ผู้เรียนแสดงท่าทางการฟ้อนรำให้ดู งานด้านพลศึกษา ต้องวัดโดยให้ผู้เรียนแสดงท่าทางการเล่นกีฬาแต่ละชนิด
3. การวัดผลการปฏิบัติ บางงานสามารถวัดกระบวนการ และผลงาน แยกจากกันได้ เพราะ เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงานจะมีผลงานปรากฏออกมาเป็นชิ้นงานให้เห็น เช่น การวัดความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้า การวัดความสามารถในการก่อสร้างงานไม้ หรือการวัดความสามารถในการประกอบอาหาร แต่การวัดการปฏิบัติบางงานต้องวัดกระบวนการและผลงานไปพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงานไม่มีผลงานปรากฏให้เห็น เช่น การวัดความสามารถด้านกีฬา นาฏศิลป์ ดนตรี การพูด การอ่านออกเสียง