2. ธรรมชาติของการวัดการปฏิบัติ

การวัดผลการปฏิบัติ เป็นการวัดที่มีลักษณะแตกต่างจากการวัดคุณลักษณะ ด้านความรู้ และด้านจิตใจ ผู้ที่จะทำการวัดต้องเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของการวัดการปฏิบัติต่อไปนี้ก่อนลงมือวัด เพื่อจะได้ดำเนินการวัดให้สอดคล้องกับธรรมชาติของการวัดการปฏิบัติ
1. การวัดผลการปฏิบัติสามารถวัดได้ทั้งรายบุคคลและกลุ่ม จึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนทำการวัดว่างานที่กำหนดให้ปฏิบัติควรให้ทำเป็นรายคนหรือรายกลุ่ม งานบางอย่างเป็นงานที่ต้องทำคนเดียว จึงจะประเมินทักษะการปฏิบัติได้ชัดเจน เช่น การคัดลายมือ การวาดภาพ การตัดเย็บการอ่านออกเสียง แต่งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว โดยเฉพาะชั้นเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมาก ผู้สอนไม่มีเวลาพอที่จะสังเกตการปฏิบัติเป็นรายคน อาจให้ทำเป็นกลุ่มแล้วสังเกตกระบวนการปฏิบัติควบคู่ไปกับความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม การทำอาหาร การบรรเลงวงดนตรี การทำแปลงเกษตร
2. วิธีการวัดผลการปฏิบัติจะแตกต่างกันออกไปตามงานที่มอบหมายให้ทำ งานบางอย่างต้องให้ผู้เรียนผลิตผลงานออกมาให้ดู เช่น งานประดิษฐ์ งานวาดภาพ หรืองานแกะสลัก งานบางอย่างต้องให้ผู้เรียนแสดงกิริยาอาการออกมา เช่น งานด้านนาฏศิลป์ ต้องวัดโดยให้ผู้เรียนแสดงท่าทางการฟ้อนรำให้ดู งานด้านพลศึกษา ต้องวัดโดยให้ผู้เรียนแสดงท่าทางการเล่นกีฬาแต่ละชนิด
3. การวัดผลการปฏิบัติ บางงานสามารถวัดกระบวนการ และผลงาน แยกจากกันได้ เพราะ เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงานจะมีผลงานปรากฏออกมาเป็นชิ้นงานให้เห็น เช่น การวัดความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้า การวัดความสามารถในการก่อสร้างงานไม้ หรือการวัดความสามารถในการประกอบอาหาร แต่การวัดการปฏิบัติบางงานต้องวัดกระบวนการและผลงานไปพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงานไม่มีผลงานปรากฏให้เห็น เช่น การวัดความสามารถด้านกีฬา นาฏศิลป์ ดนตรี การพูด การอ่านออกเสียง