3.รูปแบบการวัดการปฏิบัติ

รูปแบบการวัดการปฏิบัติ จำแนกตามระดับความเป็นจริงของสถานการณ์การปฏิบัติตั้งแต่ระดับความจริงต่ำสุด จนถึงระดับความเป็นจริงสูงสุด ได้ 4 ประเภท คือ
1. การวัดการปฏิบัติด้วยการให้เขียนตอบ (Paper and Pencil Performance Test) เป็นการวัดที่มุ่งให้ผู้สอบแสดงการปฏิบัติโดยการเขียนลงในกระดาษ ซึ่งเป็นคนละลักษณะกับการให้เขียนตอบในการวัดผลสัมฤทธิ์ด้านสติปัญญา เพราะสถานการณ์ของการวัดการปฏิบัติจะมุ่งให้ผู้สอบประยุกต์ความรู้ความสามารถและทักษะที่ได้รับการฝึกฝนมา แล้วแสดงพฤติกรรมออกมาโดยการเขียนลงในกระดาษ ซึ่งก็คือผลงาน (Product) หรือชิ้นงานที่ได้จากการปฏิบัตินั่นเอง เช่น ให้วาดภาพธรรมชาติตามจินตนาการ ให้สร้างแบบตัดกระโปรงทรงสอบ ให้เขียนแผนผังการจัดสนามสอบ ให้สร้างแผนภาพวงจรไฟฟ้า
ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้การสอบแบบเขียนตอบเพื่อวัดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติโดยเฉพาะงานภาคปฏิบัติที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนลงมือปฏิบัติว่าผู้ปฏิบัติรู้ขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นในขณะที่กำลังลงมือปฏิบัติ เช่น ให้เขียนขั้นตอนการกู้กับระเบิดก่อนลงมือปฏิบัติจริง ให้เขียนขั้นตอนการบังคับจรวดก่อนปฏิบัติจริง เป็นต้น แต่ผลการสอบด้วยแบบทดสอบเขียนตอบแบบนี้จะแสดงให้ทราบว่าผู้ตอบรู้ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้แสดงให้ทราบว่าผู้สอบมีความสามารถในการปฏิบัติหรือไม่มี
บางกรณีอาจใช้การสอบแบบเขียนตอบวัดภาคปฏิบัติในงานที่ให้ปฏิบัติเป็นกลุ่ม แต่ต้องการวัดเป็นรายบุคคล เพื่อตรวจสอบความร่วมมือในการทำงานของแต่ละบุคคล ว่าได้ร่วมงานปฏิบัติด้วยหรือไม่ เช่น ให้เขียนขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เขียนหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ให้เขียนชื่อสมาชิกในกลุ่ม ให้เขียนผลที่ได้จากการปฏิบัติ เป็นต้น ผลการสอบด้วยแบบทดสอบเขียนตอบแบบนี้ยังไม่ได้แสดงให้ทราบว่าเขามีความสามารถในการปฏิบัติหรือไม่มี เพียงแต่แสดงให้ทราบว่าเขามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานหรือไม่เท่านั้น
2. การวัดการปฏิบัติเชิงจำแนก (Identification Test) เป็นการวัดความสามารถในการจำแนกแยกแยะชิ้นส่วนของอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติ เช่น ให้ระบุชื่อของเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติ ให้ระบุชนิดของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติ ให้ระบุหน้าที่ของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ระบุตำแหน่งของชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ การวัดการปฏิบัติเชิงจำแนกอาจใช้วิธีการวัดที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อตรวจสอบทักษะในการปฏิบัติงาน เช่น ให้ฟังเสียงเครื่องยนต์ที่ผิดปกติแล้วให้ระบุว่าผิดปกติที่จุดใด พร้อมทั้งระบุวิธีการซ่อมด้วย หรือ นำตู้เย็นที่ไม่เย็นมาให้หาจุดที่ชำรุด พร้อมทั้งระบุเครื่องมือ และขั้นตอนการซ่อม เป็นต้น อย่างไรก็ตามการวัดการปฏิบัติเชิงจำแนกแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าบุคคลมีความสามารถในการปฏิบัติ เพราะไม่สามารถวัดกระบวนการและผลงานขั้นสุดท้ายของผู้ปฏิบัติได้ เนื่องจากไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่ผลการวัดภาคปฏิบัติเชิงจำแนกสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติจริงเพื่อยืนยันว่าบุคคลมีทักษะในการปฏิบัติเพียงใดได้ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ถ้าสามารถจำแนกเครื่องมือที่ใช้ในการซ่อมได้เหมาะสมกับอาการของรถ สามารถบอกอาการของเครื่องได้จากการฟังเสียงเครื่องยนต์ ก็แสดงว่ามีประสบการณ์และทักษะในการซ่อมสูง
3. การวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulated Situation Performance)
เป็นการวัดที่ให้ผู้สอบลงมือปฏิบัติในสถานการณ์ที่จำลองขึ้นมาให้คล้ายจริง ใช้วัดในกรณีที่ไม่สามารถให้ผู้สอบปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้ เนื่องจากอาจเกิดผลเสียหรืออันตรายร้ายแรงกับตนเองหรือผู้อื่นในกรณีที่ปฏิบัติผิดพลาด หรือกรณีที่อุปกรณ์ปฏิบัติมีราคาแพงมาก เช่น การสอบใบขับขี่ต้องสอบในสนามสอบจำลองเพราะถ้าให้สอบในสนามจริงอาจเกิดอุบัติเหตุจราจรได้ การทดสอบการฉีดยา การทดสอบปั๊มหัวใจของนักเรียนแพทย์ ต้องทดสอบกับหุ่นเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับคนไข้ การทดสอบขับยานอวกาศต้องทดสอบกับยานอวกาศจำลอง เพราะถ้าต้องทดสอบกับ ยานอวกาศจริงต้องใช้งบประมาณสูง การทดสอบตัดผมของช่างตัดผม บางครั้งให้ตัดจากวิกเพื่อป้องกันความผิดพลาดกรณีตัดผมผิด เป็นต้น นอกจากนั้นการวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองอาจจำเป็นในกรณีที่ไม่สามารถหาสถานการณ์จริงให้ปฏิบัติได้ เช่น การทดสอบผจญภัยในสงครามของทหาร การทดสอบการดับเพลิงของตำรวจ จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ที่คล้ายจริงเพื่อใช้ในการทดสอบภาคปฏิบัติ
ผลการวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองจะแม่นยำหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่กำหนดให้ว่าใกล้เคียงความเป็นจริงหรือไม่ ดังนั้นผู้วัดจะต้องพยายามสร้างสถานการณ์ให้เหมือนกับอยู่ในสถานการณ์จริงมากที่สุด
4. การวัดการปฏิบัติด้วยตัวอย่างงาน (Work Sample) เป็นการวัดในลักษณะที่กำหนดงานให้ผู้สอบปฏิบัติภายใต้สภาวการณ์ที่เป็นจริง เช่น กำหนดให้ตัดเสื้อจริง ๆ ในวิชาตัดเย็บ กำหนดให้ทำอาหารจริงในวิชาคหกรรม กำหนดให้ปลูกผักในแปลงจริง ๆ ในวิชาเกษตร หรือกำหนดให้สร้างชั้นวางของในวิชางานไม้ เป็นต้น ลักษณะของการวัดการปฏิบัติด้วยตัวอย่างงานมีความคล้ายคลึงกับการวัดการปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลอง ข้อสังเกตที่จะช่วยจำแนกความแตกต่างของการวัดทั้งสองแบบ คือ ถ้าให้ปฏิบัติในสภาวการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาถือว่าเป็นการวัดในสถานการณ์จำลองแต่ถ้าให้ปฏิบัติในสถานการณ์ปกติไม่ได้มีการจัดกระทำสถานการณ์ จะถือว่าเป็นการวัดการปฏิบัติจริงด้วยตัวอย่างงาน เช่น การให้สอบขับรถในสนามสอบ เป็นการวัดในสถานการณ์จำลอง แต่ถ้าให้ขับในถนนจริง ๆ เป็นการวัดด้วยตัวอย่างงาน หรือ ในงานไม้ให้สร้างโต๊ะไม้ ถ้าให้สร้างโต๊ะเล็ก ๆ จะเป็นแบบสถานการณ์จำลอง แต่ถ้ากำหนดให้สร้างโต๊ะใหญ่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่นนี้เป็นการวัดแบบตัวอย่างงาน
การวัดการปฏิบัติด้วยตัวอย่างงานเป็นการวัดที่นับว่า มีระดับความเป็นจริงสูงสุด (High Realism) เพราะเป็นการวัดการปฏิบัติที่ให้ผู้สอบลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเอง ในสภาพการณ์จริง อย่างไรก็ตามผลการวัดจะชี้ให้เห็นความสามารถที่แท้จริงของนักเรียนต่อเมื่อ งานที่กำหนดให้ปฏิบัติถูกเลือกมาอย่างดี เป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่ต้องการวัดอย่างแท้จริง